Roon, Albrecht Theodor Emil, Count von (1803-1879)

จอมพล อัลเบรชท์ ทีโอดอร์ เอมิล เคานต์ ฟอน รูน (พ.ศ. ๒๓๔๖-๒๔๖๖)

 จอมพล อัลเบรชท์ ทีโอดอร์ เอมิล เคานต์ ฟอน รูน เป็นจอมพลแห่งกองทัพบกปรัสเซียและเสนาบดีว่าการกระทรวงสงคราม เขามีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปกองทัพบกปรัสเซียให้ทันสมัยในสมัยไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๘๘)* ส่งผลให้กองทัพบกปรัสเซียเข้มแข็งและยิ่งใหญ่ สามารถเอาชนะเดนมาร์ก ในสงครามชเลสวิกครั้งที่ ๒ (Second Schleswig War ค.ศ. ๑๘๖๔) ชนะออสเตรียในสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War ค.ศ. ๑๘๖๖)* ซึ่งทำให้ออสเตรียหมดบทบาทในสมาพันธรัฐเยอรมัน และชนะฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๑)* อันนำไปสู่การรวมชาติเยอรมนี (Unification of Germany)* ภายใต้การนำของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* แห่งปรัสเซีย

 รูนเกิดเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๘๐๓ ที่พลอยส์ฮาเกิน (Pleushagen) ใกล้กับเมืองโคลแบร์ก (Colberg) ในพอเมอเรเนีย (Pomerania) ครอบครัวมีพื้นเพเดิมเป็นชาวเฟลมมิชที่มาตั้งรกรากในพอเมอเรเนืย บิดาเป็นนายทหารแห่งกองทัพบกปรัสเซียซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่รูนยังเล็กในช่วงที่ฝรั่งเศสยึดครองปรัสเซีย เขาจึงเติบโตมากับยายและได้รับอิทธิพลจากการต่อสู้ของชาวปรัสเซียเพื่อเป็นอิสระจากฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๘๑๖ รูนเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารที่เมืองคุล์ม (Kulm) และ ๒ ปีต่อมาเข้าศึกษาต่อโรงเรียนทหารในกรุงเบอร์ลิน เขารับราชการเป็นทหารครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๘๒๑ สังกัดกองทหารผสมที่ ๑๔ ซึ่งประจำการอยู่ที่เมืองสตาร์การ์ด (Stargard) ในพอเมอเรเนืย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๒๔ ศึกษาต่อวิชาการทหารชั้นสูงในกรุงเบอร์ลินอีก ๓ ปีควบคู่ กับการเพิ่มพูนความรู้วิชาสามัญทั่วไป เมื่อสำเร็จการศึกษา ใน ค.ศ. ๑๘๒๖ รูนถูกโอนไปสังกัดกองทหารผสมที่ ๑๕ ในมินเดิน (Minden) แต่ในปีเดียวกันนั้นถูกย้ายไปเป็นครูสอนในโรงเรียนทหารบกที่กรุงเบอร์ลิน เขาสนใจและเชี่ยวชาญภูมิศาสตร์การทหารและเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาหลายเล่ม เช่น Principles of Physical, National and Political Geography ซึ่งเป็นหนังสือชุด ๓ เล่ม พิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ และขายได้ถึง ๔๐,๐๐๐ เล่ม ภายในเวลาไม่กี่ปี หนังสือเล่มสำคัญอื่น ๆ คือ Elements of Geography (ค.ศ. ๑๘๓๔) Military Geography of Europe (ค.ศ. ๑๘๓๗) และ The Iberian Peninsula (ค.ศ. ๑๘๓๙)

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ รูนกลับไปเป็นทหารอีกครั้งหนึ่งโดยประจำการสำนักงานใหญ่ของนายพลฟอน มุฟฟลิง (von Muffling) ซึ่งทำหน้าที่รักษาการเมืองเครเฟลด์ (Krefeld) เป็นครั้งแรกที่เขาเริ่มตระหนักวำกองทัพบกของปรัสเซียไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ รูนเข้าสังกัดสำนักงานภูมิศาสตร์และแผนที่ทหาร (Topographical Bureau) แห่งกรมเสนาธิการทหารปรัสเซียกรุงเบอร์ลินใน ค.ศ. ๑๘๓๔ เข้าทำงานในคณะเสนาธิการทหาร ปีถัดมาได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยเอกและเป็นครูสอนและผู้ออกข้อสอบของสถาบันทหารแห่งกรุงเบอร์ลิน แต่ใน ค.ศ. ๑๘๔๐ เขาล้มป่วยเนื่องจากทำงานหนักมากเกินไป ต้องลาพักเพื่อรักษาตัวถึง ๒ ปี เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๘๔๒ รูนได้รับแต่งตั้งเป็นพันตรีและประจำการที่หน่วยทหารที่ ๗ เขาได้พบเห็นความไม่มีประสิทธิภาพของกองทัพบกปรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง รูนจึงมุ่งมั่นที่จะร่างแผนการปฏิรูปกองทัพบก ใน ค.ศ. ๑๘๔๔ เขาได้ติดตามเจ้าชายเพ์รเดอริก ชาลส์ (Frederick Charles) ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยบอนน์และเดินทางไปทั่วยุโรปในฐานะพระอาจารย์ส่วนพระองค์

 ใน ค.ศ. ๑๘๔๘ รูนได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการประจำหน่วยทหารที่ ๘ เมืองโคเบลนซ์ (Coblenz) เขาได้ร่วมมือกับเจ้าชายวิลเลียมในการปราบปรามการจลาจลที่เมืองบาเดิน (Baden) การทุ่มเทและความกล้าหาญของรูนทำให้เขาได้รับเหรียญกล้าหาญอินทรีแดงชั้น ๓ (3ʳᵈ class of the order of the Red Eagle) ใน ค.ศ. ๑๘๔๐ เมื่อ พระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ (Frederick William IV ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๖๑)* ทรงปฏิเสธที่จะเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเยอรมันที่จะจัดตั้งขึ้นและแยกออสเตรียออกจากรัฐเยอรมัน ทรงถูกบีบบังคับให้ทำสนธิสัญญาโอลมึทซ์ (Treaty of Olmütz) ที่กำหนดให้ออสเตรียยังคงมีอำนาจสูงสุดในสมาพันธรัฐเยอรมันโดยให้ปรัสเซียเป็นรองซึ่งเป็นการหยามเกียรติภูมิของปรัสเซียอย่างมากจนเรียกกันว่า ความอัปยศแห่งโอลมึทซ์ (Humiliation of Olmutz) หลัง ค.ศ. ๑๘๕๐ เป็นต้นมา รูนได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการภารกิจสำคัญ ๆ หลายครั้ง เขาได้นำเสนอแผนการปฏิรูปกองทัพบกต่อเจ้าชายวิลเลียมและได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการปฏิรูป ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ รูนได้เลื่อนยศเป็นพลตรี

 เมื่อเจ้าชายวิลเลียมซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเสด็จขึ้นครองบัลลังก์และเฉลิมพระนามพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ แห่งปรัสเซีย [ (ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๘๘) ต่อมาคือไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ (William I)* แห่งจักรวรรดิเยอรมัน (ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๘๘)] ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ พระองค์ทรงตระหนักว่ากองทัพบกของปรัสเซียจำเป็นต้องมีการปฏิรูปให้ยิ่งใหญ่อย่างน้อยให้เท่ากับสมัยพระเจ้าเฟรเดอริกมหาราชซึ่งกองทัพปรัสเซียเป็นที่เกรงกลัวของชาติต่าง ๆ ในยุโรป นอกจากนี้ สภาพทางภูมิศาสตร์ของปรัสเซียทำให้จำเป็นต้องมีกองทัพบกที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับที่อังกฤษจำเป็นต้องมีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง กองทัพบกของปรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๕๙ ยังอ่อนแอกว่าของฝรั่งเศสระบบของกองทัพยังเป็นแบบเก่าที่ไม่เหมาะสมกับสภาพของยุโรปที่เปลี่ยนแปลงไป พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ จึงทรงสนับสนุนการเร่งปฏิรูปกองทัพบกและทรงแต่งตั้งเขาเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการปฏิรูปกองทัพบกและมีหน้าที่รายงานต่อพระองค์โดยตรง ในการดำเนินงาน รูนได้รับการสนับสนุนจากเอดวิน ฟรายแฮร์ ฟอน มันทอยฟ์เฟิล (Edwin Freiherr von Manteuffel) ที่ปรึกษาด้านการทหารของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ขณะยังทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเฮลมุท ฟอน มอลท์เคอ (Helmuth von Moltke)* หัวหน้าคณะเสนาธิการ ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโท แม้จะอาวุโสน้อยแต่มีผลงานมาก ในวันที่ ๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๙ เขาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงสงครามต่อจากนายพลเอดูอาร์ด ฟอน โบบิน (Eduard von Bonin) เขามุ่งมั่นที่จะทำให้กองทัพบกเป็นอิสระจากการแทรกแซงของฝ่ายเสรีนิยมในสภาผู้แทนราษฎร สองปีต่อมา รูนได้เป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยนาวิกโยธินด้วย

 เป้าหมายการปฏิรูปกองทัพบกของรูนคือการทำให้ปรัสเซียเป็นรัฐทหาร ทำให้ชายชาวปรัสเซียทุกคนต้องผ่านการเกณฑ์ทหาร ระบบการเกณฑ์ทหารที่ใช้อยู่เดิมไม่ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับจำนวนประชากร ทำให้พลเมืองชายจำนวนไม่น้อยต้องเป็นทหารหรือเป็นทหารกองหนุนจนกระทั่งอายุ ๔๐ ปี ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่งสามารถหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารโดยทำหน้าที่เป็นเพียงอาสาสมัครป้องกันประเทศเท่านั้น รูนเสนอแผนการปฏิรูปโดยให้เพิ่มการเป็นทหารเกณฑ์จาก ๒ ปีเป็น ๓ ปีเพื่อให้มีทหารประจำการมากขึ้นทั้งทำให้จำนวนทหารกองหนุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รูนยังต้องการให้มีการฝึกทหารประจำการตลอดเวลาและปรับปรุงระบบการฝึกให้ทันสมัย ทหารต้องอยูในระเบียบวินัยที่เคร่งครัดโดยเฉพาะทหารราบ ทหารปรัสเซียจะประจำการกระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ และทหารกองหนุนจะอาศัยอยู่ไมไกลจากหน่วยที่ตนสังกัด ทำให้การเรียกรวมพลเพื่อเคลื่อนทัพสามารถทำได้ในเวลาไม่นานนัก ในช่วงสงครามกับอิตาลี รูนรับผิดชอบการเคลื่อนกำลังพลและทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 รูนทุ่มเทเวลาและความสามารถในการปฏิรูปกองทัพบกอย่างเต็มที่ แต่พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ และแผนการปฏิรูปกองทัพถูกฝ่ายเสรีนิยมในสภาผู้แทนราษฎรโจมตีอย่างรุนแรง ฝ่ายที่คัดค้านการปฏิรูปกองทัพมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รูนดิดว่าหากออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* ขึ้นเป็นอัครเสนาบดีจะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ทั้งนี้เพราะเขาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบิสมาร์คอยู่เสมอ ๆ และยังได้นัดพบกันที่บ้านของแฮร์ ฟอน บลังเคนบูร์ก (Herr von Blanckenburg) หลานของรูนซื่งเป็นเพื่อนสนิทของบิสมาร์คและเป็นสมาชิกรัฐสภา ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๖๒ บิสมาร์คซื่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีสได้รับการชักชวนจากเพื่อนให้เดินทางจากตอนใต้ของฝรั่งเศสต่อมายังกรุงเบอร์ลิน รูนได้เข้าพบบิสมาร์คทันทีที่เขาเดินทางถึงกรุงเบอร์ลินในเข้าวันที่ ๒๐ กันยายน จากนั้นรูนได้เข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ณ ปราสาทเมืองบาเบิลส์แบร์ก (Babelsberg) เขาทูลขอให้พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงมุ่งมั่นในการปฏิรูปกองทัพต่อไปและให้ทรงแต่งตั้งบิสมาร์คเป็นผู้นำรัฐบาลในตอนแรกพระองค์ทรงปฏิเสธเพราะทรงคิดว่าบิสมาร์คไม่ได้อยู่ในกรุงเบอร์ลินและคงจะไม่ยอมรับตำแหน่ง รูนจึงทูลว่าบิสมาร์คอยู่ที่กรุงเบอร์ลินแล้วและขอให้บิสมาร์คได้เข้าเฝ้าบิสมาร์คเข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ที่ปราสาทเมืองบาเบิลส์แบร์กในบ่ายวันเดียวกันนั้น พระองค์ทรงสอบถามความสมัครใจของบิสมาร์คในการรับตำแหน่งอัครเสนาบดีซึ่งต้องเผชิญกับฝ่ายค้านที่มีจำนวนมากและมีอิทธิพลมากบิสมาร์คตอบรับ ในวันที่ ๒๓ กันยายน ค.ศ. ๑๘๖๒ สภาล่างซึ่งขัดแย้งกับสภาสูงอยู่ไม่ยอมผ่านร่างงบประมาณการปฏิรูปกองทัพบก ทำให้คณะเสนาบดีลาออกทั้งคณะ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ จึงทรงแต่งตั้งบีสมาร์คเป็นอัครเสนาบดีในเวลา ๕ โมงเย็นวันเดียวกันนั้น

 แผนการปฏิรูปกองทัพบกของรูนถูกคัดค้านอย่างมากเขาต้องต่อสู้อย่างหนักและต้องอาศัยความช่วยเหลือจากบิสมาร์คซึ่งฉวยโอกาสที่เกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจในรัฐสภาดำเนินนโยบายบริหารประเทศโดยไม่ผ่านรัฐสภาทำให้ในที่สุดการปฏิรูปกองทัพบกสำเร็จลงได้ กองทัพบกปรัสเซียได้ทดสอบความเข้มแข็งครั้งแรกด้วยการทำสงครามชนะเดนมาร์กใน ค.ศ. ๑๘๖๔ อีก ๒ ปีต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ปรัสเซียได้รับชัยชนะในยุทธการที่เมืองเคอนิจแกรทซ์ (Königgrätz) ในสงครามเจ็ดสัปดาห์กับออสเตรีย ทำให้สามารถกำจัดอำนาจจักรวรรดิออสเตรียออกจากสมาพันธรัฐเยอรมันและนำไปสู่การจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ (North German Confederation)* ความคิดในการรวมชาติเยอรมันภายใต้การนำของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นแห่งปรัสเซียจึงมีแนวโน้มเป็นจริงมากขึ้น รูนจึงเปลี่ยนจากคนที่ชาวปรัสเซียเกลียดกลายเป็นคนที่ชาวปรัสเซียนิยมชมชอบ

 หลัง ค.ศ. ๑๘๖๖ เป็นต้นมา แผนการปฏิรูปกองทัพบกของรูนและมอลท์เคอได้กลายเป็นต้นแบบการปฏิรูปกองทัพของหลายประเทศในยุโรป ในเวลาต่อมารัฐต่าง ๆ ในสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือจึงเร่งปรับปรุงกองทัพให้พร้อมเพื่อทำสงครามใหญ่ เมื่อบิสมาร์คจงใจสร้างสถานการณ์ยั่วยุจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III)* ในเหตุการณ์โทรเลขจากเมืองเอมส์ (Elms Telegram)* ซึ่งนำไปสู่สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑) เมื่อสงครามยุติลงในต้น ค.ศ. ๑๘๗๑ บิสมาร์คก็เห็นเป็นโอกาสประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังแวร์ซาย ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงได้รับสถาปนาเป็นไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ แห่งจักรวรรดิเยอรมัน การรวมชาติเยอรมนีจึงบรรลุเป้าหมายรูนได้ฉลองการเป็นทหารปีที่ ๕๐ ของเขาอย่างยิ่งใหญ่ ณ พระราชวังแวร์ซาย เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เขาเป็นเคานต์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ รูนลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงสงครามและนาวิกโยธินเพื่อไปดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาบดีแทนบิสมาร์ค แต่เขาต้องลาออกในปีถัดมาด้วยปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการเลื่อนขั้นเป็นจอมพลเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๓

 จอมพล อัลเบรชท์ ทีโอดอร์ เอมิล เคานต์ ฟอน รูนถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๙ ที่กรุงเบอร์ลิน รวมอายุ ๗๖ ปี หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วบุตรชายของเขาได้พิมพ์ผลงานของบิดาเผยแพร่ คือ Memorable Experiences from the Life of General Field Marshal and Minister of War Count Roon ซึ่งเป็นหนังสือชุด ๒ เล่ม (ค.ศ. ๑๘๙๒) Minister of War Roon’s Political and Military Speeches Examined และ Roon’s Correspondence with his friends Professor Cl. Perthes, 1864-67 (ค.ศ. ๑๘๙๔).



คำตั้ง
Roon, Albrecht Theodor Emil, Count von
คำเทียบ
จอมพล อัลเบรชท์ ทีโอดอร์ เอมิล เคานต์ ฟอน รูน
คำสำคัญ
- การรวมชาติเยอรมัน
- ความอัปยศแห่งโอลมึทซ์
- โทรเลขจากเมืองเอมส์
- บลังเคนบูร์ก, แฮร์ ฟอน
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- มอลท์เคอ, เฮลมุท ฟอน
- มันทอยฟ์เฟิล, เอดวิน ฟรายแฮร์ ฟอน
- ยุทธการที่เมืองเคอนิจแกรทซ์
- รูน, จอมพล อัลเบรชท์ ทีโอดอร์ เอมิล เคานต์ ฟอน
- สงครามเจ็ดสัปดาห์
- สงครามชเลสวิกครั้งที่ ๒
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1803-1879
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๔๖-๒๔๖๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-